Responsive image
พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงปฏิบัตินับตั้งแต่เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์สิริราชสมบัติในปี 2489 แสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่พสกนิกรได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยพระองค์ทรงยึดหลักการดำเนินงานทางสายกลาง ที่สอดคล้องกับสิ่งรอบตัวและปฏิบัติได้จริง เป็นแนวทางพัฒนา เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด ซึ่งวิธีการเหล่านี้ ล้วนมีคุณค่าต่อประชาชนที่ควรยึดเป็นแบบอย่าง นำมาปฏิบัติ เพื่อให้เกิดผลต่อตนเอง สังคม และประเทศชาติ สำหรับ 23 หลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 มีดังนี้ 1. “ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ” ก่อนที่จะพระราชทานพระราชดำริเพื่อดำเนินงานโครงการ พระองค์จะทรงศึกษาข้อมูลรอบด้านจากเอกสาร แผนที่ สอบถามเจ้าหน้าที่ นักวิชาการ และราษฎรในพื้นที่ ให้ได้รายละเอียดที่เป็นประโยชน์ครบถ้วน เพื่อพระราชทานความช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วตรง ความต้องการของประชาชน 2. “ระเบิดจากข้างใน” พระองค์ทรงพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า "ต้องระเบิดจากข้างใน" หมายถึง ต้องมุ่งพัฒนาสร้างความเข้มแข็งให้คนและครอบครัวในชุมชนที่เข้าไปพัฒนา มีสภาพพร้อมที่จะรับการพัฒนาเสียก่อน แล้วจึงค่อยออกมาสู่สังคมภายนอก มิใช่การนำความเจริญจากสังคมภายนอกเข้าไปหาชุมชนและหมู่บ้าน ซึ่งหลายชุมชนยังไม่ได้ตั้งตัว จึงไม่สามารถปรับตัวได้ตามกระแสการเปลี่ยนแปลงและนำไปสู่ความล่มสลายได้ 3. “แก้ปัญหาที่จุดเล็ก” พระองค์ทรงเปี่ยมด้วยพระอัจฉริยภาพในการแก้ไขปัญหา ทรงมองปัญหาภาพรวมก่อน และทรงเริ่มแก้ปัญหาจุดเล็กๆ คือ เริ่มแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่คนมักจะมองข้าม ดังพระราชดำรัส ความตอนหนึ่งว่า “...ถ้าปวดหัวก็คิดอะไรไม่ออกเป็นอย่างนั้นต้องแก้ไขการปวดหัวนี้ก่อน... มันไม่ได้เป็นการแก้อาการจริง แต่ต้องแก้ปวดหัวก่อน เพื่อที่จะให้อยู่ในสภาพที่คิดได้แบบ (Macro) นี้ เขาจะทำแบบรื้อทั้งหมด ฉันไม่เห็นด้วย อย่างบ้านคนอยู่ เราบอกบ้านมันผุตรงนั้น ผุตรงนี้ ไม่คุ้มที่จะซ่อม เอาตกลงรื้อบ้านนี้ ระเบิดเลย เราจะไปอยู่ที่ไหน ไม่มีที่อยู่ วิธีทำต้องค่าย ๆ ทำ จะไประเบิดหมดไม่ได้...” 4. “ทำตามลำดับขั้น” ในการทรงงานพระองค์ทรงเริ่มต้นจากสิ่งที่จำเป็นของประชาชนที่สุดก่อน ได้แก่ งานด้านสาธารณสุข,สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน,ให้ความรู้วิชาการ-เทคโนโลยี เน้นปรับใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ราษฎรนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังพระบรมราโชวาท เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2517 ความตอนหนึ่งว่า “...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมีพอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานที่มั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่าง ๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด ดังเห็นได้ที่อารยประเทศกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในเวลานี้…” 5."ภูมิสังคม” การพัฒนาต้องคำนึงถึงสภาพภูมิประเทศของบริเวณนั้นว่าเป็นอย่างไร และสังคมวิทยาเกี่ยวกับลักษณะนิสัยใจคอของคน ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีในแต่ละท้องถิ่นที่มีความแตกต่างกัน ดังพระราชดำรัส ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ความตอนหนึ่งว่า “...การพัฒนาจะต้องเป็นไปตามภูมิประเทศทางภูมิศาสตร์และภูมิประเทศทางสังคมศาสตร์ในสังคมวิทยา คือ นิสัยใจคอของคนเราจะไปบังคับให้คนคิดอย่างอื่นไม่ได้ เราต้องแนะนำ เราเข้าไปช่วยโดยที่จะคิดให้เขาเข้ากับเราไม่ได้ แต่ถ้าเราเข้าไปแล้ว เราเข้าไปดูว่าเขาต้องการอะไรจริง ๆ แล้วก็อธิบายให้เขาเข้าใจหลักการของการพัฒนานี้ก็จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง..." 6."องค์รวม” ในการพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการหนึ่งนั้น จะทรงมองเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นและแนวทางแก้ไขอย่างเชื่อมโยง เช่น "ทฤษฎีใหม่" ที่พระองค์ทรงมองอย่างเป็นองค์รวม ตั้งแต่การถือครองที่ดินเฉลี่ยของคนไทย 10 - 15 ไร่ การบริหารจัดการที่ดินและแหล่งน้ำ เพราะเมื่อมีน้ำในการทำการเกษตรแล้วจะส่งผลให้ผลผลิตดีขึ้น และหากมีผลผลิตเพิ่มมากขึ้นเกษตรกรจะต้องรู้จักวิธีการจัดการและการตลาด รวมถึงการรวมกลุ่มรวมพลังชุมชนให้มีความเข้มแข็ง เพื่อพร้อมที่จะออกสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคมภายนอกได้อย่างครบวงจร 7."ไม่ติดตำรา” หลักการทรงงานของพระองค์ มีลักษณะพัฒนาที่อนุโลมและรอมชอมกับสภาพธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และสภาพสังคมจิตวิทยาของชุมชน เป็นการใช้ตำราอย่างอะลุ่มอล่วยกัน ไม่ผูกติดกับวิชาการและเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริง คือ "ไม่ติดตำรา" 8."ประหยัดเรียบง่าย ใช้ประโยชน์สูงสุด” ทรงประหยัดมากแม้เป็นเรื่องส่วนพระองค์ ดังที่ประชาชนชาวไทยเคยเห็นว่า หลอดยาสีพระทนต์นั้นทรงใช้อย่างคุ้มค่าอย่างไร ฉลองพระองค์แต่ละองค์ทรงใช้อยู่เป็นเวลานาน หรือแม้แต่ฉลองพระบาทหากชำรุดก็จะส่งซ่อมและใช้อย่างคุ้มค่า ขณะเดียวกันการพัฒนาช่วยเหลือราษฎร ทรงใช้ความเรียบง่ายและประหยัดในการแก้ไขปัญหา ให้ราษฎรสามารถทำได้เอง ประยุกต์ใช้สิ่งที่มีอยู่ในภูมิภาคมาแก้ไขปัญหาโดยไม่ต้องลงทุนสูงหรือใช้เทคโนโลยีที่ไม่ยุ่งยากนัก ดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า “...ให้ปลูกป่า โดยไม่ต้องปลูก โดยปล่อยให้ขึ้นเองตามธรรมชาติ จะได้ประหยัดงบประมาณ...” 9. "ทำให้ง่าย” ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถของพระองค์ ทำให้การคิดค้น ดัดแปลง ปรับปรุงและแก้ไข งานพัฒนาประเทศตามแนวพระราชดำริดำเนินไปโดยง่าย และ สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ระบบนิเวศโดยส่วนรวม ทรงโปรดที่จะทำสิ่งที่ยากให้กลายเป็นง่าย อันเป็นการแก้ปัญหาด้วยการใช้กฎแห่งธรรมชาติเป็นแนวทาง ดังนั้นคำว่า “ทำให้ง่าย” จึงเป็นหลักคิดสำคัญของการพัฒนาประเทศ ที่มาในรูปแบบของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 10. "การมีส่วนร่วม” พระองค์ทรงเป็นนักประชาธิปไตย ทรงเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น และทำงานโครงการพระราชดำริ โดยคำนึงถึงความคิดเห็นและ ความต้องการของประชาชน โดยพระองค์ทรงนำ "ประชาพิจารณ์" มาใช้ในการบริหารจัดการ ซึ่งเป็นวิธีที่เรียบง่ายตรงไปตรงมา โดยหากจะทำโครงการใด จะทรงอธิบายถึงความจำเป็นและผลกระทบที่เกิดกับประชาชนทุกฝ่าย รวมทั้งผู้นำชุมชนในท้องถิ่น เมื่อประชาชนในพื้นที่เห็นด้วยแล้ว หน่วยราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและร่วมดำเนินการมีความพร้อม จึงจะพระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินโครงการนั้น ๆ ต่อไป 11. "ประโยชน์ส่วนรวม” การปฏิบัติพระราชกรณียกิจ และการพระราชทานพระราชดำริในการพัฒนาและช่วยเหลือพสกนิกร พระองค์ทรงระลึกถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ ดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า “...ใครต่อใครบอกว่า ขอให้เสียสละส่วนตัวเพื่อส่วนรวม อันนี้ฟังจนเบื่อ อาจรำคาญด้วยซ้ำว่า ใครต่อใครมาก็บอกว่าขอให้คิดถึงประโยชน์ส่วนรวม อาจมานึกในใจว่า ให้ ๆ อยู่เรื่อยแล้วส่วนตัวจะได้อะไร ขอให้คิดว่าคนที่ให้เพื่อส่วนรวมนั้น มิได้ให้แน่ส่วนรวมแต่อย่างเดียว เป็นการให้เพื่อตัวเองสามารถที่จะมีส่วนรวมที่จะอาศัยได้...” 12. "บริการรวมจุดเดียว” การบริการรวมจุดเดียว หรือ One Stop Services เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในระบบบริหารราชการแผ่นดินของประเทศไทย โดยพระองค์ทรงให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นต้นแบบในการบริการรวมที่จุดเดียว เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนที่ใช้บริการ ให้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย 13. "ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ” พระองค์ทรงมองปัญหาธรรมชาติอย่างละเอียด โดยหากเราต้องการแก้ไขธรรมชาติจะต้องใช้ธรรมชาติเข้าช่วยเหลือ เช่น การแก้ไขปัญหาป่าเสื่อมโทรม ได้พระราชทานพระราชดำริ "การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก" ปล่อยให้ธรรมชาติช่วยในการฟื้นฟูธรรมชาติ หรือแม้กระทั่ง "การปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง" ได้แก่ ปลูกไม้เศรษฐกิจ ไม้ผล และไม้ฟืน นอกจากได้ประโยชน์ตามประเภทของการปลูกแล้วยังช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้แก่พื้นดินด้วย พระองค์จึงทรงเข้าใจธรรมชาติและมนุษย์ที่อยู่อย่างเกื้อกูลกัน ทำให้คนอยู่ร่วมกับป่าไม้ได้อย่างยั่งยืน 14. "ใช้อธรรม ปราบอธรรม” พระองค์ทรงนำความจริงเรื่องความเป็นไปแห่งธรรมชาติ และกฎเกณฑ์ของธรรมชาติมาเป็นหลักการ แนวปฏิบัติ เพื่อแก้ปัญหา และเปลี่ยนแปลงสภาวะที่ไม่ปกติให้เข้าสู่ระบบที่เป็นปกติ เช่น การนำน้ำดี ขับไล่น้ำเสีย เป็นการเจือจางน้ำเสียให้กลับเป็นน้ำดี ตามจังหวะการขึ้นลงตามธรรมชาติของน้ำ 15. "ปลูกป่าในใจคน” การปลูกป่าบนแผ่นดินด้วยความต้องการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลืองของมนุษย์ ทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหาย ดังนั้นการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้กลับคืนมา จะต้องปลูกจิตสำนึกในการรักผืนป่าให้แก่คนเสียก่อน ดังพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร กับเจ้าหน้าที่ที่เฝ้ารับเสด็จฯ เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินไปหน่วยงานต้นน้ำพัฒนาทุ่งจือ จังหวัดเชียงใหม่ ปี 2514 ความตอนหนึ่งว่า “...เจ้าหน้าที่ป่าไม้ควรจะปลูกต้นไม้ ลงในใจคนเสียก่อนแล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง...” 16. "ขาดทุนคือกำไร” “...ขาดทุน คือ กำไร our loss is our gain การเสีย คือ การได้ ประเทศชาติก็จะก้าวหน้า และการที่คนอยู่ดีมีสุข เป็นการนับที่เป็นมูลค่าเงินไม่ได้...” จากพระราชดำรัสดังกล่าว คือหลักการที่พระองค์ ทรงมีต่อพสกนิกรไทยด้วย “การให้” และ “การเสียสละ” โดยความอยู่ดีมีสุขของราษฎร ถือเป็นการกระทำอันมีผลเป็นกำไร ที่สามารถสะท้อนให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน ดังพระราชดำรัสที่ได้พระราชทานแก่ตัวแทนของปวงชนชาวไทยที่ได้เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพร เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2534 ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ความตอนหนึ่งว่า “...ประเทศต่างๆ ในโลกในระยะ 3 ปีมานี้ คนที่ก่อตั้งประเทศที่มีหลักทฤษฎีในอุดมคติที่ใช้ในการปกครองประเทศล้วนแต่ล่มสลายลงไปแล้ว เมืองไทยของเราจะสลายลงไปหรือ เมืองไทยนับว่าอยู่ได้มาอย่างดี เมื่อประมาณ 10 วันก่อน มีชาวต่างประเทศมาขอพบ เพื่อขอโอวาทเกี่ยวกับการปกครองประเทศว่าจะทำอย่างไร จึงได้แนะนำว่า ให้ "ปกครองแบบคนจน" แบบที่ "ไม่ติดกับตำรา" มากเกินไป ทำอย่างมีสามัคคี มีเมตตากันก็จะอยู่ได้ตลอด ไม่เหลือกับคนที่ทำตามวิชาการที่เวลาปิดตำราแล้วไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ลงท้ายก็ต้องเปิดหน้าแรกเริ่มต้นใหม่ "ถอยหลังเข้าคลอง" ถ้าเราใช้ตำราแบบอะลุ้มอล่วยกัน ในที่สุดก็เป็นการดี ให้โอวาทเขาไปว่า "ขาดทุนเป็นการได้กำไร" ของเรา นักเศรษฐศาสตร์คงค้านว่าไม่ใช่ แต่เราอธิบายได้ว่า ถ้าเราทำอะไรที่เราเสีย แต่ในที่สุดที่เราเสียนั้น เป็นการได้ทางอ้อม ตรงกับงานของรัฐบาลโดยตรง เงินของรัฐบาลหรืออีกนัยหนึ่งคือเงินของประชาชน ถ้าอยากให้ประชาชนอยู่ดี กินดี ก็ต้องลงทุนต้องสร้างโครงการซึ่งต้องใช้เงินเป็นร้อย พัน หมื่นล้าน ถ้าทำไปเป็นการจ่ายเงินของรัฐบาล แต่ในไม่ช้าประชาชนจะได้รับผล ราษฎรอยู่ดีกินดีขึ้น ราษฎรได้กำไรไป ถ้าราษฎรมีรายได้รัฐบาลก็เก็บภาษีได้สะดวก เพื่อให้รัฐบาลได้ทำโครงการต่อไป เพื่อความก้าวหน้าของประเทศชาติ ถ้า "รู้ รัก สามัคคี รู้เสียสละ" คือการได้ ประเทศชาติก็จะก้าวหน้า และการที่คนอยู่ดีมีสุขนั้นเป็นการนับที่เป็นมูลค่าเงินไม่ได้...” 17."การพึ่งตนเอง” การพัฒนาตามแนวพระราชดำริ เบื้องต้นเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้ประชาชนแข็งแรง พอที่จะดำรงชีวิตต่อไป แล้วขั้นต่อไปก็คือการพัฒนาให้ประชาชนอยู่ในสังคมได้ตามสภาพแวดล้อม และ “พึ่งตนเองได้” ในที่สุด ดังพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ตอนหนึ่งว่า “...การช่วยเหลือสนับสนุนประชาชนในการประกอบอาชีพและตั้งตัวให้มีความพอกินพอใช้ ก่อนอื่นเป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวดเพราะผู้มีอาชีพ และฐานะเพียงพอที่จะพึ่งพาตนเองได้ ย่อมสามารถสร้างความเจริญในระดับสูงขั้นต่อไป...” 18."พออยู่พอกิน” การพัฒนาเพื่อให้พสกนิกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เริ่มจากการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในทุกภาคของประเทศ และพระองค์ได้ทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของราษฎรด้วยพระองค์เอง จึงทรงเข้าพระราชหฤทัยสภาพปัญหาอย่างลึกซึ้ง จากนั้นจึงได้พระราชทานความช่วยเหลือให้พสกนิกร มีความกินดีอยู่ดี มีชีวิตอยู่ในขั้น “พออยู่พอกิน” ก่อน แล้วจึงขยับขยายให้มีขีดสมรรถนะที่ก้าวหน้าต่อไป 19."เศรษฐกิจพอเพียง” "เศรษฐกิจพอเพียง" เป็นปรัชญาที่ทรงพระราชทานชี้แนวทางดำเนินชีวิต แก่พสกนิกรมานานกว่า 30 ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ชาวไทยรอดพ้นและดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ และการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ดังนั้น "เศรษฐกิจพอเพียง" จึงเป็นปรัชญาชี้แนวทางปฏิบัติของประชาชนทุกระดับ ในการพัฒนาและบริหารให้ดำเนินไปในทางสายกลาง ภายใต้ "ความพอเพียง" หากมีการเปลี่ยนแปลง โดยทุกคนต้องมีความพอประมาณ,ซื่อสัตย์สุจริต ,อดทน ,ความเพียร รอบคอบ,มีสติปัญญา ซึ่งเหล่านี้จะเป็นระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี 20. "ความซื่อสัตย์ สุจริต จริงใจต่อกัน” “...คนที่ไม่มีความสุจริต คนที่ไม่มีความมั่นคง ชอบแต่มักง่าย ไม่มีวันจะสร้างสรรค์ประโยชน์ส่วนรวมที่สำคัญอันใดได้ ผู้ที่มีความสุจริตและความมุ่งมั่นเท่านั้น จึงจะทำงานสำคัญ ยิ่งใหญ่ที่เป็นคุณ เป็นประโยชน์แท้จริงได้สำเร็จ...” พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2522 “...ผู้ที่มีความสุจริตและบริสุทธิ์ใจ แม้จะมีความรู้น้อยก็ย่อมทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้ มากกว่าผู้มีความรู้มากแต่ไม่มีความสุจริต ไม่มีความบริสุทธิ์ใจ...” พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2533 21. "ทำงานอย่างมีความสุข” พระองค์ทรงพระเกษมสำราญ และทรงมีความสุขทุกคราที่จะช่วยเหลือประชาชน ซึ่งเคยมีพระราชดำรัสครั้งหนึ่งความว่า “...ทำงานกับฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้ นอกจากการมีความสุขร่วมกัน ในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น...” 22."ความเพียร” พระองค์ทรงริเริ่มโครงการต่างๆ ในระยะแรกไม่ได้มีความพร้อมมากนัก และทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ทั้งสิ้น แต่พระองค์ก็มิได้ท้อพระราชหฤทัย ทรงอดทนและมุ่งมั่นดำเนินงานนั้น ให้สำเร็จลุล่วง ดังเช่นพระราชนิพนธ์ "พระมหาชนก" ซึ่งพระองค์ทรงใช้เวลาค่อนข้างนานในการคิดประดิษฐ์ถ้อยคำให้เข้าใจง่าย และปรับให้เข้ากับสภาพสังคมปัจจุบัน เพื่อให้ประชาชนชาวไทยปฏิบัติตามรอยพระมหาชนก กษัตริย์ผู้เพียรพยายามแม้จะไม่เห็นฝั่งก็จะว่ายน้ำต่อไป เพราะถ้าไม่เพียรว่ายก็จะตกเป็นอาหารปู ปลา และไม่ได้พบกับเทวดาที่ช่วยเหลือมิให้จมน้ำ 23. "รู้-รัก-สามัคคี” พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสในเรื่อง "รู้ รัก สามัคคี" อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่มีคุณค่าและมีความหมายลึกซึ้ง สามารถปรับใช้ได้กับทุกยุคทุกสมัย รู้: การที่เราจะลงมือทำสิ่งใดนั้น จะต้องรู้เสียก่อน รู้ถึงปัจจัยทั้งหมด รู้ถึงปัญหา และรู้ถึงวิธีแก้ปัญหา รัก: คือ ความรัก เมื่อเรารู้ครบถ้วนกระบวนความแล้วจะต้องมีความรัก การพิจารณาที่จะเข้าไปลงมือปฏิบัติแก้ไขปัญหานั้น ๆ คือ การสร้างฉันทะ สามัคคี: การที่จะลงมือปฏิบัติควรคำนึงเสมอว่าเราจะทำงานคนเดียวไม่ได้ ต้องร่วมมือร่วมใจกันเป็นองค์กร เป็นหมู่คณะจึงจะมีพลังเข้าไปแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี ขอบคุณภาพ : https://www.terrabkk.com
โพสต์โดย วัฐพงษ์ เมื่อ 14 ก.ค. 2563 (17:45:11)
แสดงความคิดเห็น

241001



องค์การบริหารส่วนตำบลโคกจาน
ตำบลโคกจาน อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี 34130
โทรศัพท์ : 0-4542-9344 โทรสาร : 0-4542-9344 อีเมล์ :
kokjanjan1@gmail.com
www.kokjan.go.th